21 พฤศจิกายน 2024

ประวัติวิทยาลัย

  • วิทยาลัยเทคนิคพิษณุโลก เดิมชื่อ “โรงเรียนช่างไม้” ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2481 เฉพาะวิชาช่างไม้
  • ที่เดิมอยู่ ถนนจ่านกร้อง ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก มีบริเวณติดกับวัดคูหาสวรรค์ มีเนื้อที่ประมาณ 8 ไร่ โดยเช่าพื้นที่ของวัดคูหาสวรรค์ เป็นรายปี/ปีละประมาณ 40 บาท
  • สิ่งก่อสร้างในสมัยนั้นมีอาคารเรียนสร้างด้วยไม้ 3 หลัง บ้านพักครู 4 หลัง และบ่อน้ำกินน้ำใช้อีก 1 บ่อ รอบบริเวณโรงเรียนมีรั้วลวดหนามขึงบนเสาคอนกรีต
  • โรงเรียนนี้มีชื่อทางการว่า “โรงเรียนช่างไม้”
  • รับนักเรียนชายที่จบจากชั้นประถมศึกษา(ประถมปีที่ 4) โดยต้องทำการศึกษาต่อในโรงเรียนช่างไม้เป็นระยะเวลา 3 ปี จึงได้รับระกาศนียบัตรช่างไม้ชั้นต้น ซึ่งขณะนั้นเทียบเท่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 (ม. 3) ในระยะแรกปรากฏว่าโรงเรียนฯ ไม่ได้รับความสนใจจากประชาชนนัก
  • พ.ศ. 2484 กรมอาชีวศึกษาจึงให้ขยายหลักสูตรของโรงเรียนช่างไม้ชั้นต้น (3ปี) เป็นหลักสูตรช่างไม้ชั้นปลายโดยเพิ่มเวลาเรียนอีก 3 ปี
  • พ.ศ. 2490 กรมอาชีวศึกษา จึงได้ดำเนินการให้เปิดหลักสูตรอื่น ๆ คือ หลักสูตรช่างสี ช่างตัดผม และได้เปลี่ยนชื่อโรงเรียนเป็น “โรงเรียนการช่างพิษณุโลก”
  • นายสะอาด คงตระกูล อาจารย์ใหญ่โรงเรียนการช่างในขณะนั้น พร้อมด้วย นายเยียน โพธิสุวรรณข้าหลวง ประจำจังหวัดร่วมกับอธิบดีกรมอาชีวศึกษาจึงได้ดำเนินการโยกย้ายโรงเรียนมาอยู่ในบริเวณที่ได้เลือกไว้แห่งใหม่คือ บริเวณถนนวังจันทน์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก มีเนื้อที่ประมาณ 25 ไร่เศษตั้งอยู่ริมแม่น้ำน่านทิศเหนือ ติดกับโรงเรียนฝึกหัดครูพิบูลสงคราม ได้สร้างหอพักและอาคารเรียนขึ้น 1 หลัง บ้านพักครูอีก 2 หลัง ส่วน นักเรียนที่ฝึกงานอยู่ คงใช้สถานที่เดิม
  • ต่อมากรมฝึกหัดครูต้องการจะขยายบริเวณฝึกหัดครูพิบูลสงคราม ออกไปทางทิศใต้ซึ่งจะต้องการเนื้อที่ของโรงเรียนการช่างพิษณุโลกจึงได้มอบเงินงบประมาณ ให้แก่กรมอาชีวศึกษาเพื่อเป็นค่าก่อสร้างโรงเรียนการช่างพิษณุโลกแห่งใหม่ ดังนั้นทางโรงเรียนการช่างพิษณุโลกจึงจำเป็นต้องย้ายไปใช้สถานที่ของกรมตำรวจที่สนามบินเก่า
  • พ.ศ.2501 โรงเรียนการช่างพิษณุโลก ย้ายไปอยู่ที่ ถ.สนามบิน ต.ในเมือง อ.เมือง จ.พิษณุโลก มีเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ 2 งาน 90 ตารางวา
  • กรมอาชีวศึกษาได้ขยายหลักสูตรขึ้นไปอีก 3 ปี โดยรับนักเรียนที่สำเร็จการช่างชั้นปลายเข้ามาเรียนต่อ รวมเวลาที่ต้องศึกษาอยู่ในโรงเรียน 9 ปี เข้าอยู่ในโรงเรียนโครงการช่วยเหลือของ สปอ. ในปี พ.ศ. 2502 องค์การ สปอ. ร่วมกับกรมอาชีวศึกษาได้ตกลงตามโครงการช่วยเหลือโดยกรมอาชีวศึกษาได้รับเครื่องมือ เครื่องจักร และอุปกรณ์อื่น ๆ ซึ่งใช้เป็นเครื่องช่วยในการฝึกสอนทางการช่างพร้อมกับการได้จัดให้มีการอบรมครู ในเรื่องวิธีใช้เครื่องมือ และการบำรุงรักษาเครื่องจักรดังกล่าว ได้รับตามโครงการหลังจากนั้นจึงได้ให้โรงเรียนการช่างพิษณุโลกทดลองรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เข้ามาศึกษาต่อโดยใช้หลักสูตร 3 ปี เป็นรุ่นแรกและเพียงรุ่นเดียวเท่านั้น เพราะต่อมาหลังจากนั้นเพียงระยะเวลา 6 เดือน ผู้เชี่ยวชาญขององค์การ สปอ. และเจ้าหน้าที่ของกรมอาชีวศึกษาได้พิจารณาเห็นว่า ควรรับนักเรียนที่รุ่นใหญ่กว่านี้เข้าศึกษา
  • ด้วยเหตุนี้โรงเรียนการช่างพิษณุโลก จึงได้เปิดรับผู้สำเร็จชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เข้าศึกษาต่อในปีต่อมา โครงการ สปอ. ได้ช่วยเหลือแก่โรงเรียนการช่างพิษณุโลก มีอยู่ 6 สาขา คือ
    1. แผนกช่างเครื่องยนต์
    2. แผนกช่างเชื่อมและโลหะแผ่น
    3. แผนกช่างกลโรงงาน
    4. แผนกช่างก่อสร้าง
    5. แผนกช่างไฟฟ้า (เปิดสอนเมื่อปีการศึกษา 2513)
    6. แผนกช่างวิทยุ (เปิดสอนเมื่อปีการศึกษา 2518)
  • พ.ศ. 2519 กระทรวงศึกษาธิการ ประกาศรวมสถานศึกษาสังกัดกรมอาชีวศึกษาในจังหวัดพิษณุโลก เพื่อจัดตั้งเป็นวิทยาลัยอาชีวศึกษา มี 3 วิทยาเขตด้วยกัน โรงเรียนการช่างพิษณุโลก จึงเปลี่ยนชื่อเป็นวิทยาลัยอาชีวศึกษาวิทยาเขต 2
  • พ.ศ. 2522 กระทรวงศึกษาธิการได้ประกาศแยกวิทยาเขต 2 ออกจากวิทยาลัยอาชีวศึกษาพิษณุโลก เพื่อจัดตั้งเป็นวิทยาลัยเทคนิคพิษณุโลก